💘 5 เพลงรักที่ไม่มีคำว่า “รัก” ฉบับคีตกวีคลาสสิก
💖 5 ตำนานเพลงรักที่ไม่มีคำว่า “รัก” 💘
ทาง Piano House จึงอยากขอแนะนำ 5 เพลงรักตามฉบับคีตกวีคลาสสิค ที่ถึงแม้จะไม่ได้มีคำว่า “รัก” หรือมีเนื้อร้องใด ๆ ก็สามารถถ่ายทอดความรักอันแสนโรแมนติกผ่านตัวโน๊ตที่ร้อยเรียงได้อย่างสง่างาม
จะมีเพลงอะไรบ้าง และแต่ละเพลงจะโชกโชนไปด้วยเรื่องราวความรักระหว่างคีตกวีและคนรักของเขาอย่างไรนั้น ตามไปชมกันเลย!
1. Salut d’Amour — Edward Eglar
หนึ่งในเพลงรักอันแสนโด่งดังที่ครองใจผู้คนมากมายแม้ผ่านมาแล้วหลายยุคหลากสมัย “Salut d’Amour” (หรือชื่อที่เรามักแปลเป็นไทยว่า “เมื่อรักมาทักทาย”) เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของ เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ ซึ่งเดิมทีแต่งขึ้นสำหรับไวโอลินและเปียโน
เฉกเช่นเมโลดี้อันแสนหวานฉ่ำของ Salut d’Amour ที่มาของผลงานชิ้นนี้ก็เปี่ยมล้นไปด้วยความรักที่เอลการ์มีให้แก่คนรักของตน โดยในฤดูร้อนครั้งหนึ่งในปี ค.ศ. 1888 เอลการ์ได้รับบทกวีรักจาก แคโรไลน์ อลิซ โรเบิร์ตส์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักเรียนของเขา และเพื่อตอบรับรักนั้น เอลการ์ก็ได้ประพันธ์ Salut d’Amour เพื่อมอบให้เธอเพื่อเป็นของขวัญงานหมั้นระหว่างเธอและเขา
รับฟัง Salut d’Amour ได้ที่: https://youtu.be/N5z3ZO0QfFE
2. Kreisleriana — Robert Schumann
ถ้าจะพูดถึงคู่รักนักเปียโนในตำนาน จะไม่พูดถึงคู่ของ โรแบร์ท ชูมัน และ คลารา ชูมัน ก็คงจะไม่ได้ โดยหลายคนในยุคปัจจุบันอาจคุ้นหูเรื่องราวความรักของคู่ชูมันจากซีรี่ย์เกาหลี “Do You Like Brahms?” (ชื่อไทย: เพลงรักอุ่นละมุน)
“Kreisleriana” เป็นเพลงเดี่ยวเปียโนที่ โรแบร์ท ชูมัน กล่าวว่าได้ใช้เวลาเพียงแค่สี่วันในการประพันธ์ ซึ่งเขาก็ได้มอบบทเพลงนี้ให้แก่ คลารา ชูมัน ภรรยาอันเป็นที่รักของเขาในปี ค.ศ. 1838
แต่อย่างไรก็ตาม ความรักของทั้งคู่ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะในช่วงเวลาที่โรแบร์ทแต่งและมอบ “Kreisleriana” ให้คลารานั้น ชีวิตรักของพวกเขาก็กำลังเผชิญมรสุมครั้งใหญ่ เนื่องจากพ่อของคลารานั้นได้ทำการต่อต้านคัดค้านการแต่งงานของทั้งคู่แบบหัวชนฝา จนถึงขั้นพาโรแบร์ทขึ้นโรงขึ้นศาลกันเลยทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามเรื่องราวความรักของพวกเขาก็ได้จบลงอย่างสวยงาม เมื่อทั้งคู่ได้เข้าพิธีวิวาห์กันในที่สุด (แต่เรื่องราวหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร จะแฮปปี้เอนดิ้งหรือไม่ ก็คงต้องยกให้เป็นเรื่องเล่าในโอกาสหน้า)
รับฟัง Kreisleriana ได้ที่: https://youtu.be/q9HspWx9yVg
3. Moonlight Sonata — Ludwig van Beethoven
อีกหนึ่งบทเพลงอันเป็นอมตะของคีตกวีและนักเปียโนชื่อดังอย่าง ลุดวิก ฟาน เบโทเฟน ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “Moonlight Sonata” โดยนักกวีนามว่า ลุดวิก เรลล์ซตาบในปี ค.ศ. 1832 จากการเปรียบเทียบท่อนแรกของเพลงกับภาพสะท้อนของแสงจันทร์ในทะเลสาบลูเซิร์น ณ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
“Moonlight Sonata” เป็นเพลงเปียโนที่เบโทเฟนประพันธ์เสร็จในปี ค.ศ. 1801 และได้ถูกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1802 เพื่อมอบให้แก่ท่านหญิงจูเลียตตา กุยชาร์ดี ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของเบโทเฟน โดยทั้งคู่ได้ตกหลุมรักกันอย่างลึกซึ้งหลังจากที่เบโทเฟนได้เริ่มสอนดนตรีเธอ และว่ากันว่าเบโทเฟนก็ได้ขอเธอแต่งงานในเวลาต่อมา
แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ความรักของเบโทเฟนและกุยชาร์ดีจะไม่ได้จบลงอย่างแฮปี้เอนดิ้ง เนื่องจากทั้งคู่ไม่ได้เข้าพิธีวิวาห์กันในท้ายที่สุด แต่เราก็เชื่อว่าความรู้สึกที่เบโทเฟนมีให้แก่กุยชาร์ดีนั้นได้ถูกจารึกร้อยเรียงผ่านบทเพลง “Moonlight Sonata” อันแสนเลื่องลือนี้ไปตลอดกาล
รับฟัง Moonlight Sonata ได้ที่: https://youtu.be/W0UrRWyIZ74
4. Für Elise — Ludwig van Beethoven
อย่างที่หลายคนว่ากันไว้ว่า ความรักกับนักดนตรีมักเป็นของคู่กัน นอกจากท่านหญิงจูเลียตตา กุยชาร์ดี ที่เบโทเฟนเคยมอบ “Moonlight Sonata” ให้ ในตลอดช่วงชีวิตของเบโทเฟน เขาก็ได้ตกหลุมรักผู้หญิงหลายคน และหนึ่งในนั้นก็คือ เทเรเซอ มัลฟัทที เพื่อนสนิทของเบโทเฟน ที่เขาได้มอบเพลง “Für Elise” ให้แก่เธอ
“Für Elise” เป็นหนึ่งในผลงานสำหรับเดี่ยวเปียโนของเบโทเฟนที่มีชื่อเสียงมากที่สุด โดยหลังจากที่เบโทเฟนตกหลุมรักเทเรเซอจนถึงขั้นเคยเอ่ยปากขอเธอแต่งงาน เขาก็ได้ประพันธ์เพลง “Für Elise” ซึ่งแปลว่า “แด่เอลีเซอ” ให้ในปี ค.ศ. 1810
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมเพลงถึงชื่อ “Für Elise” (แด่เอลีเซอ) ไม่ใช่ “Für Therese” (แด่เทเรเซอ) ณ ปัจจุบันมีอยู่สองข้อสันนิษฐานหลักก็คือ 1. เทเรเซอมีชื่อเล่นว่าเอลีเซอ และ 2. ลูทวิช โนล ที่เป็นผู้คัดลอกต้นฉบับโน้ตเพลงฉบับแรก ได้คัดลอกชื่อผลงานผิดจาก "Für Therese" เป็น "Für Elise"
แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสำหรับเบโทเฟน เนื่องจากเทเรเซอไม่ได้รับรักเขา (ในภาษาปัจจุบันอาจจะเรียกได้ว่าเทเรเซอได้ทำการ “เฟรนโซน” เบโทเฟนไปแล้วนั่นเอง)
รับฟัง Für Elise ได้ที่: https://youtu.be/s71I_EWJk7I
5. String Quartet No.2 (“Intimate Letters”) — Leoš Janáček
เพลงรักเพลงสุดท้ายที่จะยกมานี้ ขอแหวกแนวจากเพลงที่แต่งสำหรับเปียโนมาเป็นเพลงสำหรับเครื่องสายกันบ้าง
String Quartet No.2 เป็นบทเพลงควอเตตที่ถูกประพันธ์ไว้สำหรับไวโอลิน วิโอล่า และเชลโล่ โดย Janáček ได้รับแรงบันดาลใจในการแต่งเพลงนี้มาจากมิตรภาพอันแสนยาวนานระหว่างเขากับเพื่อนสนิทนามว่า คามิลา สตอสโลวา ซึ่งพวกเขาได้เขียนแลกเปลี่ยนจดหมายมากกว่า 700 ฉบับตลอดช่วงเวลาที่พวกเขามีชีวิตอยู่ และจดหมายพวกนี้นั้นเองที่ทำให้ String Quartet No.2 ของ Janáček ถูกขนานนามว่า “Intimate Letters” (สามารถแปลไทยได้ว่า “จดหมายใกล้ชิด”)
รับฟัง String Quartet No.2 (“Intimate Letters”) ได้ที่: https://youtu.be/wkGQivw-2eY
เปียโนเฮ้าส์ มีเปียโนญี่ปุ่นมือสอง ครบทุกรุ่นยอดนิยม! พื้นที่โชว์รูมใหญ่ 3 ชั้น บนถนนบรมราชชนนี ฝั่งตรงข้ามเซนทรัลปิ่นเกล้า
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อเราได้ที่
🎹 Line Official ID - @pianohouse
https://lin.ee/p7dviU
🎹 Facebook - www.facebook.com/PianoHousePinklao
🎹 Tel - 02-8818787-9, 081-8994236